หน้าหลัก

ปฐมสังคายนา

 

กาลภายหลังพระพุทธปรินิพาน

                นับตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงบรรลุอภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้ทรงประกาศพระศานามาจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายใกล้ปรินิพพาน พระองค์ได้ทรงประทานโอวาทไว้ว่า “อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัยอันเราแสดงไว้แล้วนั้นแหละ จะเป็นศาสดาของเธอทั้งชาติ” และด้วยเหตุที่ “สุภัททวุฒบรรพชิต” (ภิกษุชื่อสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่)
ได้กล่าวจ้วงจาบพระรัตนตรัย พระอรหันตสาวกทั้งหลายมี “พระมหากัสสป” เป็นประธานได้มาประชุมชักถามกัน เพื่อรวบรวม “พระธรรมและพระวินัย” ที่ตนเองได้รับฟังมาโดยเฉพาะพะพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยจัดไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อเป็น “ต้นแบบ” ไว้ทรงจำสืบกันมา จนกระทั่งได้มีการจารึกพระไตรปิฏก ไว้เป็นหลักฐานในกาลเวลาต่อมา ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็น
“มรดกธรรม” ชิ้นสุดท้าย ขององค์สมเด็จพระจอมไตรที่ได้ทรงประทานไว้ให้พุทธบริษัททั้งหลายสืบมา เพราะว่า “พระไตรปิฏก” นั้น กว่าจะสืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ต้องผ่านความเห็นชอบร่วมกัน ระหว่างผู้ร่วมประชุมมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “พระอรหันต์ปฏภีสัมทาญาณ” เป็นผู้ทรงพระไตรปิฏกอย่างแท้จริง

 

มูลเหตุแห่งการทำสังคายนาพระไตรปิฏก

                ประวัติสุภัททวุทฒบรรพชิต ในวันที่ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว โดยกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า “อย่าเลขท่านทั้งหลาย อย่าได้เศร้าโศกร่ำไรเลย พวกเราได้จากมหาสมณะดีแล้วพระมหาสมณะได้เบียดเบียนให้พวกเราลำบาก ด้วยการห้ามปรามว่า สิ่งนี้สมควรแก่เธอทั้งหลายสิ่งนี้ไม่สมควนแก่เธอทั้งหลาย” ดังนี้

 

ประวัติพระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่

                ตามที่พระบาลีมีเนื้อความว่า ในกาลครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากกรุง
กุสินารา กับด้วยพระภิกษุสงค์สงฆ์ 1,250 รูป เสด็จจาริกมายังอาตุมานคร ครั้งนั้นมีภิกษุบวชต่อเมื่อแก่รูปหนึ่ง ชื่อว่า สุภัททภิกษุ เคยเป็นช่างกัลบก (ตัดผม) มาก่อน มีบุตร 2 คน บวชเป็นสามเณรอยู่ด้วยกัน ได้ยินเขากล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังอาตุมานคร แล้วก็คิดว่าจะกวนข้าวยาคูถวายพระพุทธเจ้า จึงใช้ให้บุตรทั้งสองนั้น ถือเอาซึ่งเครื่องโกนผม และเครื่องตัดผม และขวดและถุงไถ้ สามเณรก็เที่ยวโกนผมและตัดผมให้ชาวบ้านทุกๆ เรือน แล้วประมวลมาซึ่งเกลือและน้ำมัน และข้าวสารของเคี้ยวฉันนั้นเป็นอันมาก
                ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จมาถึงอาตุมานคร อาศัยอยู่ในภูสาคารศาลาล้อมด้วยฟาง อันคนจัดแจงซึ่งภายในเรียบร้อยราบรื่นเป็นอันดี ดุลดังว่าภายในแห่งศาลาและถ้ำ ควรจะเป็นที่อยู่แห่งบรรพชิตทั้งหลาย ในตอนเย็นวันนั้น สุภัททภิกษุสู่ประตูบ้านแล้ว จึงบอกแก่คนทั้งปวงว่า “หากจะปรารถนาสิ่งอันใดอันหนึ่ง ในสำนักของท่านมิได้ และสิ่งของที่สามเณรนำไปนั้นจะถวายแก่ประสงค์ ท่านจงให้แต่หัตถกรรมเถิด” (หมายความว่า ถ้าหาของมาทำบุญไม่ได้ ขอให้มาช่วยกันทำก็ได้)
                        คนทั้งหลายจึงถามว่า “จะให้ข้าพเจ้ากระทำอย่างไร?”
                        สุภัททภิกษุจึงบอกว่า “ท่านจงกระทำสิ่งๆ นี้”
                แล้วจึงให้คนทั้งหลายถือเอาซึ่งเครื่องทั้งปวง จึงให้ตั้งก้อนเส้าเตาไฟลงในกลางวิหาร แล้วนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์อันดำ ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ก็ดำ แล้วเที่ยวไปจัดแจงให้กระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้จนถึงสิ้นคืนยังรุ่ง จำหน่ายทรัพย์แสนหาปณะ ให้ตกแต่งโภชนะยาคูและมธุโคฬิก
                (ในสารัตถทีปนีอธิบายว่า ยาคูอันจะพึงกัดพึงเคี้ยวก่อนแล้ว จึงจะดื่มกินได้นั้นชื่อว่า “โภชนะยาคู” โภชนะยาคูนั้นเข้าเครื่องของเคี้ยวทั่งปวง มีเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนื้อปลา และลูกไม้ดอกไม้ เป็นตน โภชนะยาคูนั้นมีกลิ่นหอมยิ่งนัก ถ้าคนสำอางโอ่โถงปรารถนาจะแต่งตัว ควรใส่ศีรษะก็ได้แล

 

พระพุทธเจ้าทรงติเตียน

                ครั้งเวลารุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าชำระสรีรกิจแล้ว ปรารถนาจะไปทรงบิณฑบาตจึงพาสงฆ์บริวารทั้งปวง บ่ายพระพักตร์เฉพาะบ้านอาตุมานครแล้วเสด็จไป คนทั้งหลายจึงบอกแก่
สุภัททภิกษุว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าเข้ามาทรงบิณฑบาตแล้ว พระผู้เป็นเป็นเจ้าตกแต่งยาคูไว้จะถวายแก่พระภิกษุองค์ใดเล่า?” สุภัททภิกษุนั้นมีผ้ากาสาวพัสตร์ที่นุ่งนั้นก็ดำ มือข้างหนึ่งถือทัพพี มือข้างหนึ่งถือภาชนะใส่ยาคู แล้วเข้าไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงคุกเข่าข้างขวาลงเหลือแผ่นดิน
ยกเข่าเบื้องซ้ายขึ้นตั้งไว้แล้วนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ดุลดังว่าสหัมบดีพรหมอาราธนาธรรมกระนั้น แล้วจึงทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขออาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงพระกรุณารับซึ่งยาคูให้เป็นประโยชน์แก่กระหม่อมฉันสักครั้งหนึ่งเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
                สมเด็จพระบรมศาสดาจึงมีพระพุทธฏีกาตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุ ท่านได้ยาคูมาแต่สถานทีใด?” สุภัททภิกษุก็กราบทูลซึ่งเหตุ เหมือนว่ามาแต่หนหลังนั้น จึงตรัสติสุภัททภิกษุโดยเหตุนั้นเป็นอันมาก แล้วจึงแสดงธรรมเทศนาตรังบัญญัติสิกขาบทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตในศาสนานี้ อย่าพึงชักชวนคฤหัสถ์และบรรชิตในสิ่งอันมิได้สมควรแก่สมณะ ผิว่าชักชวนต้องทุกกฎ อนึ่งถ้าภิกษุเป็นช่างกัลบกอยู่ก่อน อย่าพึงนำไปซึ่งเครื่องโกนผม ผิว่านำไปต้องทุกกฏ” ภิกษุเคยเป็นช่างกัลบกอยู่นั้น จะนำเครื่องโกนผมไปนั้นมิควรเลย แม้จะปลงผมก็พึงปลงด้วยมีดโกน เป็นของแห่ง
ผู้อื่นจึงควร ผิว่าถือเอาซึ่งค่าจ้างแล้วปลงก็มิควร ถ้ามิได้เป็นช่างกัลบกอยู่ก่อนจะนำไปก็ควร อนึ่งจะเอามีดโกนที่นำไปก็ดี มีดโกนอันอื่นก็ดีปลงผมนั้นก็ควรแล

 

พระอานนท์เข้าประชุมเพื่อทำสังคายนาพระไตรปิฏก

                การสังคายนาครั้งที่ 1 นี้ทำขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพานไปเพียง 3 เดือน ต่อมาพระอานนท์ได้สำเร็จพระอรหันต์ ทันเวลาที่จะประชุมพอดี รุ่งเช้าซึ่งจัดเป็นวันที่สองของพระอานนท์ได้สำเร็จพระอรหันต์นั้น พระเถระทั้งหลายฉันจังหันแล้วก็เก็บบาตรจีวรไว้แล้ว จึงได้ไปประชุมกันที่ธรรมสภา
                ส่วนพระอานนท์เถระมีความประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้การบรรลุความเป็นพระอรหันต์ของตนจึงมิได้ไปพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายก็นั่งที่อาสนะของตนๆ ตามลำดับพรรษาเว้นไว้แต่ที่นั่งของพระอานนท์เท่านั้น เมื่อภิกษุบางพวกในธรรมสภานั้นถามว่า “นั่นเป็นอาสนะของใคร?” ก็มีผู้ตอบว่า “เป็นอาสนะของอานนท์” เมื่อมีผู้ถามว่า “พระอานนท์ไปไหน”
                พอดีในขณะนั้น พระอานนท์ก็คิดว่า บัดนี้เป็นเวลาที่เราควรจะไปแล้วเพื่อจะแสดงอานุภาพของตนให้ปรากฏ จึงได้ดำลงไปในแผ่นดินแล้ว ไปปรากฏที่อาสนะของตน อาจารย์อีกจำพวกหนึ่งกล่าวว่า ท่านเหาะไปดังนี้ก็มี “สมัยนั้นพระอานนท์มีความยินดีว่า บัดนี้เราเป็นผู้สมควรเข้าท่ามกลางที่ประชุมแล้วห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง มีลักษณะเหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้ว มีลักษณะเหมือนทับทิมที่วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ลักษณะเหมือนดวงจันท์เพ็ญที่ลอยเด่นใน
ท้องนภากาศ อันปราศจากเมฆและมีลักษณะเหมือนดอกปทุม มีเกสรและกลีบแดงเรื่อ กำลังแย้มด้วยต้องแสงอาทิตย์อ่อนๆ คล้ายจะบอกเรื่องที่ตนบรรลุพระอรหันต์ด้วยปากอันประเสริฐบริสุทธิ์ผุดผ่องมีรัศมีและมีสิริ ได้ไปสู่ที่ประชุมสงฆ์
                ครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระพอเห็นพระอานนท์ดังนั้น ได้มีความรู้สึกว่า ท่านผู้เจริญอานนท์บรรลุพระอรหันต์แล้วงามจริงๆ ถ้าพระศาสดายังทรงดำรงพระชนม์อยู่ พระองค์ก็จะพึงประทานสาธุการแก่พระอานนท์ในวันนี้แน่แท้
                บัดนี้ เราจะให้สาธุการซึ่งพระศาสดาควรประธานแก่พระอานนท์นั้น ดังนี้แล้วได้ให้สาธุการ 3 ครั้ง.....”

 

สังคายนาพระวินัย

                เมื่อพระอานนทเถระนั่งบนอาสนะแล้ว (ตรงกับวันแรม 5 ค่ำ เดือน 9) พระมหากัสสปเถระ จึงปรึกษาพระภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อน ท่านทั้งหลายเราควรสังคายนาพระธรรมก่อน หรือควรสังคายนาพระวินัยก่อนประการใด” พระภิกษุทั้งหลายจึงตอบว่า “ข้าแต้ท่านพระมหากัสสป ชื่อว่า พระวินัย เป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังตั้งอยู่ พระพุทธศาสนาจัดว่ายังดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น พวกเราจึงควรสังคยานาพระวินัยก่อน” พระมหากัสสปเถระจึงถามไปต่อว่า “เราควรจะมอบธุระให้ใครเป็นหน้าที่วิสัชนาพระวินัย” พระภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า “ควรมอบหน้าที่ให้แก่พระอุบาลี”
                ลำดันนั้น พระมหากัสสปเถระจึงได้ได้สมสติตนให้เป็นผู้ถาม ส่วนพระอุบาลี ก็สมสติตนให้เป็นผู้แก้ แล้วถามและแก้กันในพระวินัยเป็นลำดับไป เมื่อถามและแก้ในพระวินัยเป็นลำดับไป เมื่อถามและแก้ในข้อใดเสร็จลงไปแล้วก็จัดข้อนั้นให้เป็นหมวดหมู่กัน สิกขาบทของภิกษุนั้น จัดไว้เป็นคัมภีร์หนึ่งเรียกว่า “คัมภีร์มหาวิภังค์” สิกขาบทของภิกษุณีนั้นจัดไว้เป็นคัมภีร์หนึ่งเรียกว่า “คัมภีร์ภิกขุนีวิภังค์” แล้วท่านยกพระวินัยของภิกษุและภิกษุณีขึ้นไว้ใน “ขันธกปริวาร”  เป็นอันว่า ในสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณีทั้งสิ้น พร้อมด้วยขันธกปริวารนั้น ได้ขึ้นสู่พระวินัยปิฏกแล้ว ในเวลาจบการปุจฉาวิสัชนาแล้ว พระอรหันต์ทั้ง 500 องค์ก็ได้ทำการสาธยายพร้อมกันตามหลักที่ได้สังคายนาไว้
                ในเวลาสุดท้ายแห่งการจบการสังคายนาพระวินัย พระอุบาลีเถระ ก็วางพัดวิชนีอันวิจริตด้วยงา แล้วก็ลงจากธรรมมาสน์ ไหว้พระภิกษุทั้งหลายผู้แก่กว่า แล้วก็นั่งลงที่อาสนะของตนดังนี้

 

สังคายนาพระสูตร

                ครั้งสังคายนาพระวินัยจบลงแล้ว พระมหากัสสปเถระประสงค์จะสังคายนาพระธรรม
จึงถามพระภิกษุทั้งหลายว่า “เมื่อพวกเราจะสังคายนาพระธรรม ควรมอบธุระให้ผู้ใดเป็นผู้วิชัสนา?”
                ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “ควรมอบธุระให้พระอานนท์”
                ลำดับพระมหากัสสปเถระ ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า “ขอสงฆ์จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า
ถ้าสงฆ์พร้อมเพรียงกันแล้ว ข้าพเจ้าพึงถามพระธรรมกะท่านพระอานนท์”
                พระอานนท์เถระ ก็ประกาศให้ทราบด้วยคำว่า “ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังถ้อยคำข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมเรียงกันแล้ว ข้าพเจ้าอันพระมหากัสสปถามแล้ว พึงวิสัชนาพระธรรม”
                ลำดับนั้น พระอานนทเถระก็ลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มผ้าลดไหล่ลงข้างหนึ่ง นมัสการพระเถระทั้งหลายแล้ว ก็ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ จับวาลวิชนีด้ามวิจิตรแล้วด้วยงา (แล้วพระมหากัสสปเถระ ก็ถามถึง พรหมชาลสูตร สามัญผลสูตร ว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ที่ไหน แล้วได้ถามถึงนิทาน ถามบุคคล และถามนิกายทั้ง 5 โดยอุบายนี้นั่นแล)    
                ที่ชื่อว่านิกาย 5 คือ ทีนิกาย มัชฌิมนิกาย สังคยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททนิกาย  บรรดานิกายเหล่านั้น พระพุทธพรตที่ยกเว้น 4 นิกายเสียชื่อว่า “ขุททกนิกาย ในขุททกนิกายนั้น พระวินัยท่านอุบาลีเถระได้วิสัชนาแล้ว ขุททกนิกายที่เหลืออีก 4 นิกาย พระอานนทเถระวิสันา

 

พระพุทธพจน์มี 3 อย่าง

                พระพุทธพจน์มี 3 อย่างแบ่งประเภทเป็น 3 คือ ปฐมพุทธพจน์ มัชฌิมพุทธพจน์ และปัจฉิมพุทธพจน์ บรรดาพระพุทธพจน์ 3 อย่างนั้น พระพุทธพจน์ว่า “เราแสวงหาอยู่ ซึ่งนายช่างผู้ทำเรือนคือ ตัณหา เมื่อไม่พบ ได้เที่ยวไปแล้วสิ้นสงสาร นับด้วยชาติมิน้อย ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป
                ดูก่อนนายช่างผู้ทำเรือน! เราพบเจ้าแล้ว เจ้าจักสร้างเรือน(คืออัตภาพของเรา)ไม่ได้อีกต่อไป โครงบ้านทั้งหมดของเจ้า เราหักเสียแล้ว ยอดเรือน(คืออวิชชา) เรารื้อเสียแล้ว จิตของเราได้ถึงพระนิพพาน มีสังขารไปปราศเสียแล้ว เราได้บรรลุความสิ้นไปแห่งตัณหาหลายแล้ว......”ดังนี้

 

ปิฏก 3

                พระพุทธพจน์ทั้งปวงเป็น 3 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปิฏกอย่างไร? ก็พระพุทธพจน์แม้ทั้งปวง มีอยู่ 3 ประการเท่านั้นคือ พระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฏก พระอภิธรรมปิฏก ใน 3 ปิฏกนั้น
พระพุทธพจน์นี้คือ ประมวลพระพุทธวจนะแม้ทั้งหมด ทั้งที่ร้อยกรองใน ปฐมสังคายนา ทั้งที่
ร้อยกรองในภายหลัง เป็นปาฏิโมกข์ 2 ฝ่าย วิภังค์ 2 ขันธกะ 22 บริวาร 16 ชื่อ “วินัยปิฏก” พระพุทธวจนะนี้คือ
                ทีฆนิกาย เป็นสูตรยาวๆ ทั้งนั้นมี 34 สูตร แบ่งออกเป็น 3 วรรค
                มัชฌิมนิกาย เป็นสูตรสั้นยาวพอประมาณ มี 152 สูตร แยกเป็น 15 วรรค
                สังยุตตนิกาย เป็นนิกายที่ว่าด้วยสังยุตต่างๆ มีเทวตาสังยุต เป็นต้น มี 7,762 สูตร
                อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยองค์แห่งธรรมต่างๆ คือ ว่าด้วยหมวดธรรมต่างๆ มีธรรมหมวด 1 เป็นต้น
                เมื่อว่าโดยพระสูตรมีอยู่ 9,557 สูตร
                ขุททกนิกาย ได้แก่พระวินัยปิฏกด้วย และพระอภิธรรมปิฏกด้วย กับที่เป็นพระสูตรอีก 15 คัมภีร์ด้วย

 

อรรถาธิบายพระวินัย

                1.     เพราะต่างๆ คือปาฏิโมกข์ อาบัติ ขันธ์ มาติกา และวิภังค์
                2.     เพราะมีนัยพิเศษ คือมีการทำให้มั่นและการประกอบซึ่งการทำเนืองๆ และนัยแห่งอนุบัญญัติ
                3.     เพราะฝึกกายและวาจา คือห้ามกันความประพฤติที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา ดังนี้

 

อรรถธิบายพระสูตร

                คำว่า พระสูตร นั้นมีความหมาย 6 ประการดังนี้
                1.     ชี้ประโยชน์ตนและผู้อื่น เป็นต้น
                2.     ผลิผล หมายถึงย่อมเกิดผลเหมือนกับข้าวกล้า
                3.     ไหลออก หมายถึงเป็นที่ไหลออกแห่งประโยชน์ เหมือนกับแม่โคอันเป็นที่ไหลออกแห่งน้ำนมฉะนั้น
                4.     รักษาดี หมายถึงป้องกันดี
                5.     คล้ายกับเส้นบรรทัด หมายความว่า เส้นด้ายสำหรับตีบรรทัดแห่งช่างไม้ทั้งหลายย่อมเป็นสิ่งสำคัญของช่างไม้ฉันใด พระสูตรก็เป็นสิ่งสำคัญของผู้รู้ทั้งหลายฉันนั้น
                6.     เครื่องร้อย หมายความว่าดอกไม้ที่คนทั้งหลายร้อยด้วยเส้นด้ายแล้ว ย่อมไม่กระจัดกระจายฉันใดเนื้อความทั้งหลายที่พระอรหันต์ทั้งหลายรวบรวมไว้ในพระสูตรก็ไม่กระจัดกระจายฉันนั้น

 

อรรถาธิบายพระอภิธรรม

                คำว่า พระอภิธรรม นั้นมีความหมาย 5 ประการดังนี้
                1.     เจริญ คำนี้เมื่อว่าตามศัพท์แล้วมาจาก อภิซึ่งแปลว่า  เจริญ เปรียบเหมือนคำว่า
”ทุกขเวทนาเจริญขึ้น” คือเมื่อรวมกับคำว่า “ธรรม” เป็นคำว่า “อภิธรรม” แล้วก็แปลว่า “ธรรมอันเจริญ”
                2.     มีลักษณะ คำแปลว่า มีเครื่องกำหนด เปรียบเหมือนกำหนดราตรีนั้นๆ ว่าเป็นวันนั้น คืนนั้น อธิบายว่า อภิธรรมนั้น แปลว่า “ธรรมอันมีกำหนด มีเครื่องหมาย”
                3.     มีผู้บูชา หมายความว่าพระอภิธรรมนั้นเป็นธรรมซึ่งมีเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชา
                4.     มีกำหนด อธิบายว่า พระอภิธรรมนั้นมีกำหนดสภาวธรรมต่างๆ
                5.     เป็นธรรมอย่างยิ่ง อธิบายว่า พระอภิธรรมนั้นว่าด้วยธรรมอันยิ่งทั้งนั้น ดังนี้

 

ผู้ปฏิบัติดีและไม่ดีใน 3 ปิฏก

ภิกษุผู้ปฏิบัติดีใน 3 ปิฏก
                อนึ่ง ภิกษุผู้ปฏิบัติดีใน พระวินัย อาศัยสีลสมบัติ ย่อมได้บรรลุวิชชา 3 ก็เพราะตรัสจำแนกประเภทวิชชา 3 เหล่านั้นนั่นแล ไว้ในพระวินัยนั้น
                ผู้ปฏิบัติดีใน พระสูตร อาศัยสมาธิสมบัติ ย่อมได้บรรลุอภิญญา 6 ก็เพราะตรัสจำแนกประเภทอภิญญา 6 เหล่านั้นไว้ในพระสูตรนั้น
                ผู้ปฏิบัติดีใน พระอภิธรรม อาศัยปัญญาสมบัติ ย่อมได้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 ก็เพราะตรัสจำแนกประเภทปฏิสัมภิทา 4 นั้น ไว้ในพระอภิธรรมนั้นนั่นแล
                ผู้ปฏิบัติในปิฏกเหล่านี้ย่อมสมบัติต่างกันคือ วิชชา 3 อภิญญา 6 และปฏิสัมภิทา 4 นี้ตามลำดับด้วยประการฉะนี้

 

ภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีใน 3 ปิฏก 

ภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีในพระสูตร ไม่รู้อยู่ซึ่งอธิบายในพระบาลีมีอาทิว่า
                “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้ มีอยู่ หาได้อยู่” ดังนี้ ย่อมถือเอาผิดที่พระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงหมายตรัสว่า  “บุคคลมีธรรมอันตนถือผิดแล้ว ย่อมกล่าวตู่เราทั้งหลายด้วย ย่อมขุดตนเองด้วย ย่อมได้ประสบบาปมิใช่บุญมากด้วย ดังนี้ ภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นผู้มีทิฎฐิผิด เพราะการถือนั้น
                ภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีใน พระอภิธรรม แล่นเกินไปซึ่งการวิจารณ์ธรรม ย่อมคิดแม้ซึ่งเรื่องไม่ควรคิด ย่อมถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต เพราะคิดซึ่งเรื่องไม่ควรคิดนั้น ข้อนี้ต้องด้วยพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคิดอยู่ซึ่งเรื่องที่ไม่ควรคิดเหล่าใด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า แห่งความลำบากใจ เรื่องที่ไม่ควรคิดเหล่านี้ 4 ประการ อันบุคคลไม่ควรคิด” ดังนี้
                ภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีในปิฎก 3 เหล่านี้ ย่อมถึงความวิบัติต่างด้วยความเป็นผู้ทุศีล ความเป็นผู้มีทิฏิฐิผิด และความฟุ้งซ่านแห่งจิตนี้ ตามลำดับ ด้วยประการฉะนี้
               

เกิดเหตอัศจรรย์

                การสังคายนาครั้งแรกได้ร้องกรองอยู่ 7 เดือนจึงสำเร็จ ก็ในเวลาจบการร้อยกรองพระพุทธพจน์นั้น มหาปฐพีนี้เหมือนความปราโมทย์ให้สาธุการอยู่ว่าพระมหากัสสปเถระทำพระศาสนาของพระทศพลนี้ ให้สามารถเป็นไปได้ตลอดกาลประมาณ 5,000 พระวรรษา ดังนี้
                ก็หวั่นไหวเอนเอียง สะเทือนสะท้านเป็นอเนกประการ จนถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุดและอัศจรรย์ทั้งหลายเป็นอันมากก็ได้ปรากฏมีแล้ว ด้วยประการฉะนี้
               

เรื่องสิขาบทเล็กน้อย

                ครั้นสังคายนาพระธรรมวินัยไตรปิฏกจบลงแล้ว พระอานนทเถระจึงกล่าวขึ้นแก่พระเถระทั้งหลายว่า “ข้าแต่ท่านทั้งหลาย เมื่อจวนจะปรินิพพาน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสสั่งข้าพเจ้าได้ว่า ดูก่อนพระอานนท์ เมือเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อย
เสียก็ได้”

                พระเถาระทั้งหลายจึงถามว่า “ท่านพระอานนท์ ท่านได้ทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือไม่ว่า สิกขาบทเล็กน้อยนั้น ได้แก่สิขาบนเหล่าไหน?”
                พระอานนทเถระตอบว่า
                “ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า”
                แล้วพระเถระบางจำพวกกล่าวขึ้นว่า
                “เว้นปาราชิก 4 นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย”
                แม้พระเถระบางพวกก็กล่าวขึ้นในสิกขาบทต่างๆ ที่มาในพระปาฏิโมกข์
                ครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระจึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยคำว่า
                “ขอสงฆ์จะฟังข้าพเจ้า สิกขาบททั้งหลายของพวกเราที่ไปสู่คฤคัสถ์มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก้สมณศากยบุตรสิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียจักมีผู้กล่าวว่าพระสมณโคดมทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพียงชั่วเวลาหมดควันไฟที่ถวายพระเพลิงเท่านั้น
                 พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้ ถ้าสงฆ์เห็นชอบพร้อมกันแล้ว สงฆ์ไม่ควรบัญญัติสิ่งที่
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ ไม่ควรเลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว ควรประพฤติให้มั่นอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว อันนี้เป็นบัญญัติ
                แล้วท่านก็ประกาศความเดิมอีกครั้งหนึ่ง เสริมในตอนท้ายความว่า “ท่านผู้ใดเห็นว่าสมควร ขอให้ผู้นั้นนิ่งอยู่ ท่านผู้ใดเห็นว่าไม่สมควร ขอให้ท่านผู้นั้นพูดขึ้น สงฆ์ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ ไม่เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว แล้วปฏิบัติมั่นอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ สงฆ์ที่เห็นชอบด้วยแล้ว เพราะฉะนั้นสงฆ์จึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าขอจำเรื่องนี้ไว้ด้วยอาการอย่างนี้

 

ปรับทุกกฎพระอานนท์

                ลำดับนั้น พระเถระทั้งหลายได้บอกพระอานนท์เถระว่า “ท่านอานนท์” ข้อที่ท่านไม่ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย นี่เป็นทุกกฎแก่ท่าน ท่านจงแสดงทุกกฎนั้นเสีย”
                พระอานนทเถระกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อยนั้น เพราะระลึกไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าข้อนั้นเป็นทุกกฎ แต่เพราะเชื่อถือต่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าแสดงทุกกฎนั้น”
                พระเถระทั้งหลายจึงกล่าวต่อไปว่า “ท่านพระอานนท์ การที่ท่านเหยียบผ้าอาบน้ำฝน ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาเย็นนั้น เป็นทุกกฎแก่ท่าน ท่านจงแสดงทุกกฎนั้นเสีย”
                พระอานนทเถระตอบว่า “ข้าพเจ้าเหยียบผ้าอาบน้ำฝนของพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาเย็น โดยมิได้เคารพก็หามิได้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าข้อนั้นเป็นทุกกฎ ก็แต่ว่าข้าพเจ้าจะแสดงทุกกฎนั้นเพราะความเชื่อถือท่านทั้งหลาย”
                พระเถระทั้งหลายจึงกล่าวต่อไปว่า “การที่ท่านอานนท์ให้มาตุคาบทั้งหลาย ถวายบังคมพระสรีระของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อนนั้น เป็นทุกกฎแก่ท่านอานนท์ เพราะเมื่อสตรีเหล่านั้นกำลังร้องไห้ก็ทำให้พระสรีระของผู้มีพระภาคเจ้าเปื้อนด้วยน้ำตา ท่านจงแสดงทุกกฎนั้นเสีย”
                พระอานนทเถระตอบว่า
                “ข้าพเจ้าคิดว่ามาตุคามเหล่านี้ อย่าได้อยู่จนเวลาพลบค่ำ จึงให้พวกมาตุคามถวายบังคม
พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นว่าข้อนั้นเป็นทุกกฎ ก็แต่ว่าข้าพเจ้าจะแสดงทุกกฎนั้นเสีย เพราะความเชื่อถือท่านทั้งหลาย”
                พระเถระทั้งหลายกล่าวต่อไปว่า “เมื่อสมเด็จพระภาคเจ้าทรงทำนิมิตอันหยาบ ทรงทำโอกาสอันหยาบ ท่านอานนท์ไม่ได้ทูลอ้อนวอนไว้ว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด ขอพระสุคตเจ้าจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด เพื่อประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก ดังนี้นั้น เป็นทุกกฎแห่งท่าน ท่านจงแสดงทุกกฎนั้นเสีย”
                พระอานนทเถระจึงตอบว่า “ข้าพเจ้าถูกมารดาดลใจ จึงไม่ได้ทูลอ้อนวอนไว้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าข้อนั้นเป็นทุกกฎ ก็แต่ว่าข้าพเจ้าจะแสดงทุกกฎนั้นเสีย ด้วยความเชื่อท่านทั้งหลาย”
                พระเถระทั้งหลายจึงกล่าวอีกว่า “ท่านอานนท์ การที่ท่านได้พยายามทำให้มาตุคามได้บรรพชาในพระธรรมวินัยที่พระตถาดทรงประกาศไว้แล้วนั้น เป็นทุกกฎแก่ท่าน ท่านจงแสดงทุกกฎนั้นเสีย”
                พระอานนท์เถระตอบว่า “ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ขวนขวายให้มาตุคามได้บรรพชาในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้นั้น ด้วยคิดว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีนี้ เป็น
พระนางขอพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ประคับประคองเลี้ยงดู ถวายข้าวป้อนน้ำนมแก่พระผู้มี
พระภาคเจ้า นับแต่พระชนนีของพระผู้มีพระภาคเจ้าสิ้นพระชนม์ไป ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าข้อนี้เป็นทุกกฎ แต่ว่าข้าพเจ้าจะแสดงทุกกฎด้วยความเชื่อถือท่านทั้งหลาย”

 

อรรถกา

                คำว่า “ทุกกฎแก่พระอานนท์นั้น” หมายความว่า พระเถระทั้งหลายติเตียนพระอานนท์ว่าการที่ทำอย่างนั้นเป็นทุกกฎคือ เป็นการทำที่ไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าเป็นอาบัติ ด้วยพระเถระเจ้ากล่าวว่าจะไม่รู้จักสิ่งไหนเป็นอาบัติ สิ่งไหนไม่เป็นอาบัตินั้นหามิได้ ทั้งมีคำที่พระเถระทั้งหลายได้ประกาศไว้ว่า สงฆ์บัญญัติไว้แล้วก็ไม่ได้ ดังนี้
                คำที่พระเถระทั้งหลายบอกว่า “ท่านจงแสดงทุกกฎนั้นเสียด้วย” หมายความว่า ท่านจะรู้ว่าสิ่งนั้นๆ ท่านทำไม่ดี เท่านั้นไม่ได้หมายความว่า เป็นอาบัติทุกกฎ “พระอานนท์ไม่ได้ทูลถาม เพราะระลึกไม่ได้นั้น” คือไม่ใช่ไม่ทูลถามเพราะไม่เอื้อเฟื้อ เพราะฉะนั้น เมื่อพระอานนท์กำหนดไม่ได้
ซึ่งการทำไม่ดีในสิ่งนั้นๆ จึงตอบว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าข้อนั้นเป็นกฎ เมื่อท่านแสดงความเคารพต่อพระเถระทั้งหลายท่านจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะแสดงทุกกฎนั้นเสีย เพราะความเชื่อถือท่านทั้งหลาย” ดังนี้

 

อานิสงส์พระวินัย

                “พระวินัยนั้น ภิกษุรักษาดีโดยถูกทางแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ คือ ความไม่ต้องเดือดร้อนใจภิกษุผู้ประพฤติย่อหย่อน ย่อมถูกดูหมิ่นติเตือน ไม่มีคนนับถือ เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ
                ฝากภิกษุผู้นิยมในพระวินัย แต่ขาดความเข้าใจเค้าเงื่อน พอใจจะถือให้ได้ตรงตามตำรับให้เหมือนครั้งพุทธกาล แต่ตนเกิดในกาลอื่น ในประเทศอื่น ย่อมได้พบความข้อข้อง ประพฤติไม่สะดวกใจเป็นธรรมดา
                ฝายภิกษุผู้ประพฤติถูกทาง ย่อมได้ความแช่มชื่นเพราะรู้สึกว่าตนประพฤติดีงาม ไม่ต้องถูกลงโทษติเตียนมีแต่จะได้ความสรรเสริญ จะเข้าหมู่ภิกษุผู้มีศีลก็องอาจไม่ต้องสะทกสะท้าน ดังนี้”

อานิสงส์การเรียนพระวินัย

                สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ 5 เหล่านี้ มีอยู่ในบุคคล
ผู้ทรงพระวินัย คือ
                1.     กองศีลของตนย่อมเป็นของอันบุคคลนั้น คุ้มครองรักษาไว้ดีแล้ว
                2.     ย่อมเป็นที่พึ่งพิงของเหล่ากุลบุตร ผู้ถูกความสงสัยครอบงำ
                3.     ย่อมเป็นผู้กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์
                4.     ย่อมข่มพวกข้าศึกได้ด้วยดี โดยสหธรรม
                5.     ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติด้วยความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม”

การลงพรหม

                พระฉันนะ
                ลำดับนั้น พระอานนทเถระได้กล่าวขึ้นต่อพระเถระทั้งหลายว่า “ข้าแต่ท่านทั้งหลาย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้สั่งข้าพเจ้าไว้ ในเวลาจะปรินิพพานว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันทะ”
                พระเถระทั้งหลายจึงถามว่า “ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือไม่ว่า พรหมทัณฑ์นั้นได้แก่อะไร?”
                พระอานนทเถระตอบว่า “ได้ทูลถามแล้ว พระองค์ตรัสตอบว่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุฉันนะประสงค์จะทำสิ่งใดก็ให้ทำตามประสงค์ อย่าว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุฉันนะ”
                พระเถระทั้งหลายจึงกล่าวว่า “ท่านอานนท์ ถ้าอย่างนั้น ท่านนั้นแหละจงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ”
                พระอานนทเถระปรึกษาว่า “ข้าพเจ้าจะลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะได้อย่างไร เพราะเธอเป็นคนดุร้ายหยาบคาย”
                ครั้งนั้น พระอานนท์ก็ได้เข้าไปยังวัดโฆสิตาราม ครั้นไปถึงแล้ว นั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ พระฉันนะก็ไปไหว้พระอานนท์แล้วก็นั่งลง พระอานนท์จึงกล่าวขึ้นว่า “นี่แนะ ท่านฉันนะ สงฆ์ได้ลงพรหมทัณฑ์แก่ท่านแล้ว”
                พระฉันนะจึงถามว่า “ข้าแต่ท่านอานนท์ พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร?
                พระอานนท์ตอบว่า “ท่านฉันนะ ท่านจะทำสิ่งใดก็ให้ทำตามประสงค์ ไม่ให้ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือนห้ามปรามเป็นอันขาด”
                พระฉันนะจึงตอบว่า “ท่านอานนท์ การที่ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือนห้ามปรามข้าพเจ้านี้ เป็นอันสงฆ์กำจัดข้าพเจ้าแล้วมิใช่หรือ?” ว่าดังนี้แล้ว ก็เป็นลมล้มลงในที่นั้นเอง
                ต่อมาพระฉันนะก็อึดอันเบื่อหน่าย รังเกียรอยู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่
ผู้เดียว ตั้งใจเจริญสมณธรรมมิได้ประมาท มีความเพียรเผากิเลสให้พินาศ ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกจากเรือนบวชโดยชอบสมปรารถนา  ด้วยปัญญาอันยิ่งตนเอง ได้รู้ชัดแล้วว่า สิ้นความเกิดแล้ว สำเร็จพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีสิ่งอื่นที่จะต้องทำเพื่อให้สำเร็จอีกแล้ว เป็นอันว่าพระฉันนะได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่ง  ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้งนั้น พระฉันนะผู้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็ได้ไปหาพระอานนท์แล้วกล่าวว่า
                “ข้าแต่ท่านอานนท์ ขอท่านจงระงับพรหมทัณฑ์แก่ข้าพเจ้าในบัดนี้เถิด”
                พระอานนท์ตอบว่า “ท่านฉันทะ เมื่อใดท่านได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว เมื่อนั้นพรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับแล้ว” ดังนี้


เรียบเรียงโดย อ.นวลจิต อุทัยเชฏฐ์