หน้าหลัก

ประวัติแห่งการสังคายนา

 

การสังคายนาพระไตรปิฎก

                รวมความว่า การที่พระสงฆ์ทั้งหลายประชุมกัน เพื่อปรารภเหตุแห่งความมั่นคงของ
พระพุทธศาสนาเป็นการดำรงรักษา “พระธรรมวินัย” ไว้เป็นแบบแผน กิจพระศาสนานี้จึงเรียกว่า “สังคายนา”
                การจัดทำสังคายนานี้ ถือว่าเป็นงานใหญ่และสำคัญมาก ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้ง 2 ด้าน คือ
                ประการที่ 1   ทางด้าน “ฝ่ายพุทธจักร” อันมีพระมหาเถระผู้ทรงความรู้ความสามารถมีความชำนาญทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ จนได้รับผลคือปฏิเวธ ครบถ้วนทั้ง 3 ประการ
                ประการที่ 2   ทางด้าน “ฝ่ายอาณาจักร” อันมีพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้มีบุญญาธิการเลื่อมใสในคุณพระศรีรัตนตรัย ทรงเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์
                ฉะนั้น ประเทศใดที่มีคุณลักษณะพร้อมทั้ง 2 ประการนี้ ก็สามารถจัดทำ “ศาสนกิจ” เช่นนี้ให้สำเร็จลุล่วงได้

 

พระไตรปิฎก

                พระพุทธวจนะ คือ พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายมาตลอด 45 พรรษานั้น ท่านรวมลงไว้ใน “พระไตรปิฎก” เป็นจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ มีดังนี้คือ
                1.     วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของพระภิกษุและภิกษุณี เรียกว่า “หมวดพระธรรมวินัย” มี 21,000 พระธรรมขันธ์
                2.     สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไปเรียกว่า “หมวดพระสูตร” มี 21,000 พระธรรมขันธ์
                3.     อภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ เรียกว่า “หมวดพระอภิธรรมหรือปรมัตถ์” มี 42,000 พระธรรมขันธ์

 

พระพุทธศาสนา มี 2 ฝ่าย

                พระไตรปิฎกต้นฉบับเดิมเป็นภาษาบาลี (ภาษามคธ) ซึ่งเป็นภาษาชองชาวอินเดียสมัยนั้น ต่อมาพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปยังนานาประเทศ ย่อมมีอุปสรรคในการเรียนการสอน เพราะชาวประเทศเหล่านั้นไม่รู้ภาษาบาลี
                ดังนั้น ฝ่ายเถรวาท (หินยาน) ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลังกา เขมร ลาว ต่างก็ได้ชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลี ขึ้นเป็นอักษรของประเทศนั้น ๆ
                ส่วนของ ฝ่ายอาจริยวาท (มหายาน) หรือศาสนาพุทธแบบที่ ญี่ปุ่น จีน ธิเบต ญวน และเกาหลีนับถือ ใช้ภาษาสันสกฤตเป็นต้นแบบ และได้แปลออกเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ เช่นกัน
                พระสงฆ์ในประเทศไทย
                สำหรับในประเทศไทย พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 2 นิกาย คือ
                1.     มหานิกาย (แบบเดิม)
                2.     ธรรมยุติกนิกาย (เกิดขึ้นสมัยที่รัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวชอยู่)
                ถ้าจะนับนิกายย่อย ๆ ก็มีอีกเช่น อานัมนิกาย (พระญวน ฝ่ายมหายาน) และ รามัญนิกาย (พระสงฆ์มอญ) เป็นต้น พระนิกายใด ก็มีวัดอยู่ เฉพาะของนิกายนั้น
                คณะสงฆ์ได้จัดแบ่งหน้าที่เป็น 2 ฝ่าย (เริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี) มีดังนี้คือ
                1.     ฝ่ายอรัญวาสี มีหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ ทางปฏิบัติสมถวิปัสนากรรมฐานที่เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ”
                2.     ฝ่ายคามวาสี มีหน้าที่ให้การศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น เรียนนักธรรม เรียนบาลี เป็นต้น หรือปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ที่เรียกว่า “คันถธุระ”
                เป็นอันว่าพระสงฆ์ทั้งสองนิกาย คือ มหานิกาย และ ธรรมยุติ ต่างก็สืบเนื่องมาจากวงศ์เดียวกันที่เรียกว่า ลังกาวงศ์
                เนื่องจากประเทศไทยได้ มีการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศลังกา ได้มีการแลกเปลี่ยน
สมณฑูตแก่กันและกันตลอดมา จึงขอนำประวัติความเป็นมาให้ทราบดังนี้

 

ลังกาวงศ์ และสยามวงศ์

                ในรัชสมัยของ พระเจ้าปรักกรมพาหุ เสวยราชย์ในลังกาทวีป พระองค์ทรงทำนุบำรุง
พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมาก กิตติศัพท์นี้ได้แผ่มาถึง พม่า มอญ และไทย พระภิกษุในประเทศเหล่านี้พากันไปดูงานการศึกษา เห็นข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวลังกาก็เลื่อมใส ใคร่จะนำมาเผยแพร่ในประเทศของตนบ้าง แต่พระสงฆ์ชาวลังการังเกียจว่า พระสงฆ์จากนานาประเทศแตกต่างกันมานานแล้ว จึงให้พระภิกษุเหล่านั้นอุปสมบทใหม่เป็นนิกาย “ลังกาวงศ์” พระภิกษุเหล่านั้นก็เล่าเรียนพระธรรมวินัยจนรอบรู้แตกฉานแล้วจึงกลับประเทศของตนบางพวกก็นำพระสงฆ์ชาวลังกา มายังประเทศของตนด้วย
                สมัยนั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครองเมืองสุโขทัย พระองค์ได้ทรงทราบว่าพระสงฆ์ฝ่าย “ลังกาวงศ์” มาตั้งสำนักอยู่ที่นครศรีธรรมราช จึงนิมนต์พระสงฆ์ลังกาวงศ์ขึ้นมา เพื่อฟื้นฟู
พระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบมา  ต่อมาตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ศาสนาในลังกาพินาศล่มจมหมด ทางลังกาได้มาขอพระสงฆ์ไทยไปประดิษฐานพระศาสนา และทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระสงฆ์คณะหนึ่งไป โดยมี พระอุบาลี เป็นหัวหน้า ทางลังกาเลยเรียกพระสงฆ์ในลังกาว่า “นิกายอุบาลีวงศ์” หรือ “สยามวงศ์” จนทุกวันนี้
                ในทุกวันนี้ประเทศไทยมีแต่ “พระลังกาวงศ์” ส่วนในประเทศลังกามีแต่ “พระสยามวงศ์” พระสงฆ์ทั้ง 2 วงศ์นี้ จัดว่าเป็น “ฝ่ายเถระวาท” เช่นกัน ฉะนั้น การที่พระสงฆ์ “ฝ่ายเถระวาท” ที่เป็นศาสนทายาทขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ยังปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้ เพราะเหตุว่ามีข้อวัตรปฏิบัติ “พระธรรมวินัย” ไปในทางเดียวกัน ถ้ามีความเห็นในข้อประพฤติไม่ตรงกันเมื่อไหร่ เมื่อนั้นความวุ่นวายก็เกิดขึ้นในสังฆมณฑลอีก ดังมีตัวอย่างที่ผ่านมาดังนี้

 

การสังคายนาพระไตรปิฏกในประเทศอินเดีย

                ครั้งที่ 1  หลังเสด็จสู่ปรินิพพาน 3 เดือน พระอรหันต์ 500 รูป อันมี พระมหากัสสป เป็นประธาน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นศาสนูปถัมภก ทำที่กรุงราชคฤห์ ใช้เวลา 7 เดือน จึงเสร็จ
                (ปรารภเหตุ เพื่อรวบรวม “พระธรรมพระวินัย” ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อวางหลักปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกัน)
                ครั้งที่ 2  พ.ศ.100 พระอรหันต์ 700 รูป อันมี พระยสกากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวนพระสงฆ์ทำสังคายนา พระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก ทำที่เมืองเวสาลี ใช้เวลา 8 เดือน จึงเสร็จ
                (ปรารภเหตุ พวกภิกษุวัชชีบุตร ประพฤติไม่ตรงตามพระธรรมวินัยที่วางไว้ พระสงฆ์จึงประชุมกันตัดสินความประพฤตินั้น)
                ครั้งที่ 3  พ.ศ.234 หรือ 235 พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นหัวหน้าคัดเลือกพระอรหันต์ 1,000 รูป ประชุมกันที่อโศการาม เมืองปาตลีบุตร ใช้เวลา 9 เดือน จึงสำเร็จในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช
                (ปรารภเหตุ ชำระสอบสวนพวกเดียร์ถีย์ ที่ปลอมเข้ามาบวช แล้วตัดสินออกจากพระธรรมวินัย)

 

การสังคายนาพระไตรปิฎกในประเทศลังกา

                ครั้งที่ 4 (ทำเป็นครั้งแรกในลังกา) หลังจากสังคายนาครั้งที่ 3 แล้ว พระมหินทเถระ
พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำ “คณะสมณฑูต” เดินทางไปประดิษฐานพระพุทธศาสนา
                จึงได้จัดทำสังคายนาขึ้นใน พ.ศ.238 ที่ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี พระเจ้าเทวานัม ปิยติสสะ เป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ 10 เดือนจึงสำเร็จ
                (ปรารภเหตุ เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคายนาครั้งที่ 3 ได้ผ่านมาไม่นาน พระมหิทเถระ ได้มาจัดทำที่นี่อีก พร้อมด้วยคณะสงฆ์มีจำนวนมากกว่าปกติ คือประมาณ 68,000 รูป
                ถ้าจะสันนิษฐานได้ว่า ท่านคงจะประชุมกันเพื่อทบทวนพระพุทธวจนะ ที่ได้กระทำเมื่อครั้งที่ 3 เพื่อให้พระสงฆ์ในลังกาทวีปจะได้ทรงจดจำไว้เป็นแบบแผนต่อไป
                ครั้งที่ 5  (ทำเป็นครั้งที่ 2 ในลังกา) เมื่อประมาณ พ.ศ.433 (บางแห่งว่า พ.ศ.450) พระพุทธทัตตเถระ กับ พระติสสเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ประมาณ 1,000 รูป ทำที่อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท มีพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก
                (ปรารภเหตุ ความแตกร้าวระหว่างภิกษุพวกอภัยศิริ และภิกษุพวกมหาวิหาร กับปรารภอุบายให้กุลบุตรทรงจำพระไตรปิฏกได้แม่นยำ จึงได้จารจารึกพระไตรปิฎกทั้งบาลีและอรรถกถาเป็นอักษรสิงหฬ ในลังกาทวีปเป็นครั้งแรก)
                ครั้งที่ 6  พ.ศ.956 พระพุทธโฆษาจารย์ ได้เดินทางไปแปลอรรถกถาพระไตรปิฎก จากภาษาสิงหฬกลับมาเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยของ พระเจ้ามหานาม ครองลังกา
                ครั้งที่ 7  เมื่อ พ.ศ.1587 พระกัสสปเถระ ได้เป็นประธาน มีพระเถระร่วมด้วยกว่า 1,000 รูปได้รจนาเป็นภาษาบาลี ซึ่งเป็นคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎกของพระพุทธโฆษาจารย์ที่ทำไว้เดิม เรียกว่า “คัมภีร์ฎีกา” ในความอุปถัมภ์ของ พระเจ้าปรักกรมพาหุ
                (หมายเหตุ ครั้งที่ 6, 7 นี้ ทางลังกาไม่ถือว่าเป็นการสังคายนา)

 

การสังคายนาพระไตรปิฎกในประเทศพม่า

                ทำในครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2414 มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน
                และทำในครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2497 เป็นการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกและอรรถกถา โดยมีคำแปลเป็นภาษาพม่า
                (หมายเหตุ พม่าไม่รับรองสังคายนาครั้งแรกในลังกา คงรับรองเฉพาะครั้งที่ 2 ของลังกาว่าเป็นครั้งที่ 4 ต่อจากนั้นก็นับการทำสังคายนาในประเทศของตนว่าเป็นครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6)

 

การสังคายนาของฝ่ายมหายาน

                สำหรับฝ่ายมหายาน ซึ่งเป็นคนละสายกับ ฝ่ายเถรวาท แต่ก็นับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน แต่ฝ่ายมหายานเน้นหนักไปในด้านปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ ดังปรากฏทางโบราณวัตถุตามสถานที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย
                แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนา 2 ฝ่ายนี้ เคยเจริญรุ่งเรืองสลับกันในบางยุคบางสมัย

 

การสังคายนาพระไตรปิฎกในประเทศไทย

                ตามหลักฐานการจัดทำพระไตรปิฎกในประเทศไทย แบ่งเป็น 6 สมัย ดังนี้
                สมัยที่ 1      ชำระและจารลงไปใบลานเป็นอักษรแบบไทยลานนากระทำที่เมืองเชียงใหม่สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ.2020
                สมัยที่ 2  ชำระและจารลงในใบลานกระทำที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พ.ศ.231
                การทำสังคายนาในครั้งนี้ เนื่องด้วยหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 พม่าได้เอาไฟเผาวัดวา
อาราม เผาบ้าน เป็นเหตุให้คัมภีร์พระไตรปิฎก และหนังสือเกี่ยวกับศาสนาจำนวนมากเสียหายไป
                ครั้นถึงสมัยพระเจ้าตากสินได้สั่งให้หาคัมภีร์พระไตรปิฎก ที่ยังมีเหลืออยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนที่มีอยู่ในกัมพูชา เอามารวบรวมคัดจำลอง จะสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงไว้แต่ยังไม่ทัน เรียบร้อยก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน
                ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ จ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน และให้ชำระและแปลฉบับ อักษรลาว อักษรรามัญ เป็นอักษรขอม ถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอารามหลวง ต่อมามีผู้กราบทูลว่า
พระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาที่มีอยู่ ผิดเพี้ยนวิปลาสเป็นอันมาก ผู้ที่รู้พระไตรปิฎกก็มีน้อยท่าน ควรจะได้หาทางชำระให้ถูกต้อง
                จึงตรัสถามสมเด็จพระสังฆราชพร้อมทั้งพระราชาคณะ ซึ่งท่านได้ถวายพระพรให้ทรงทราบว่ามีผิดพลาดมาก แล้วเล่าประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก 8 ครั้งที่ล่วงมาแล้ว เมื่อทรงทราบดังนี้จึงอาราธนาให้พระสงฆ์ อันมี สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง โฆษิตาราม เป็นประธานดำเนินการสังคายนาชำระพระไตรปิฎก ซึ่งเลือกได้พระสงฆ์ 218 รูป ราชบัณฑิตอุบาสก 32 คน กระทำ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดมหาธาตุในปัจจุบัน)
                ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาเสด็จไป ณ พระอารามทุกวัน ๆ ละ 2 ครั้ง เวลาเช้าทรงประเคนสำรับอาหาร เวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฏฐบาน (น้ำผลไม้คั้น 8 อย่าง) และ
ธูปเทียนทุกวัน สิ้นเวลา 5 เดือน จึงเสร็จ
                หลังจากนั้นโปรดให้จารจารึกลงในใบลาน เป็นพระไตรปิฏกฉบับหลวงขึ้นใหม่อีก ฉบับหนึ่ง เรียกว่า “ฉบับทองใหญ่” เพราะปิดทองทั้งตัว ต่อจากนั้นมาได้โปรดให้สร้างอีก 2 ฉบับ คือ
                1.     ฉบับรองทรง (เพราะเป็นฉบับที่รองจากฉบับทองใหญ่) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉบับข้างลาย” (เพราะมีลายเขียนข้าง ๆ)
                2.     ฉบับทองชุบ (เพราะใช้เขียนชุบด้วยเส้นหมึก)
                ทั้ง 3 ฉบับนี้ถือเป็นฉบับสำหรับหอหลวง นอกจากนี้ยังได้โปรดให้สร้างพระราชทานไปตามพระอารามหลวงอีกแทบทุกแห่ง และยังได้พระราชทานอนุญาตให้พระขอยืมฉบับหลวงไปคัดลอกเอาเอง ตามวัดต่าง ๆ อีกด้วย เพื่อให้พระสงฆ์และผู้มีอุตสาหะในการเล่าเรียน จะได้อาศัยใช้เป็นตำราแม่บทเล่าเรียนกันต่อไป
                อนึ่ง พระไตรปิฎกดังกล่าวนี้ เดิมทีอาจเป็นภาษาหรืออักษรมอญ พม่า ลาว ขอม และไทยเหนือก็ตาม แต่เมื่อชำระแล้ว ได้จารึกเป็นอักษรขอมอย่างเดียว เพื่อสะดวกแก่การอ่านในครั้งนั้น
                สมัยที่ 3 พระไตรปิฎกฉบับนี้ ได้เป็นแม่แบบสำหรับตรวจสอบต่อมา ในการพิมพ์อักษรไทย ใน พ.ศ.2431-2436 อีกด้วย
                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดให้พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎก อันมี สมเด็จพระสังฆราช กรมพระยาปวเรศวริยาภรณ์ เป็นประธานร่วมกันชำระแล้ว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นด้วยอักษรไทยเป็นครั้งแรก จำนวน 1,000 ชุด เป็นการฉลองการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติมาครบ 25 ปี พร้อมกับได้ทรงบริจาค
พระราชทรัพย์เป็นทุนในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ด้วย
                สมัยที่ 4      ในการพิมพ์ครั้งแรกนี้ พิมพ์ได้ 39 เล่ม ยังขาดไปมิได้จัดพิมพ์อีก 6 เล่ม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ร่วมกับพสกนิกรของพระองค์ จัดพิมพ์เพิ่มเติมอีก เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช (รัชกาลที่ 6) ในวโรกาสครบถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อ พ.ศ.2468
                ในครั้งนี้ได้ทรงอาราธนาพระเถรานุเถระผู้ทรงพระไตรปิฏกมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน พร้อมด้วยพระราชาคณะอีก 8 รูป ได้ช่วยกันตรวจสอบเทียบเคียงกับพระไตรปิฏกในประเทศต่าง ๆ เช่น ลังกา พม่า เป็นต้น และยังได้เทียบเคียงกับฉบับของอังกฤษ ซึ่งสมาคมบาลีปกรณ์แห่งกรุงลอนดอน ได้ตรวจสอบโดยรอบคอบไว้แล้วนั้นด้วย
                จึงถือว่าการสังคายนาครั้งรัชกาลที่ 1 ได้เป็นแบบฉบับของพระไตรปิฏกฉบับภาษาไทย (ฉบับหลวง) ต่อมาจนทุกวันนี้ เมื่อได้ชำระแล้วโปรดให้จัดพิมพ์ขึ้นเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2473 เป็นจำนวน 45 เล่ม เท่ากับอายุพรรษาของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกพระไตรปิฏกฉบับนี้ว่า “พระไตรปิฏกสยามรัฐ”
                สมัยที่ 5      ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 คณะสงฆ์ได้จัดแปล “พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ” จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยบริบูรณ์เป็นครั้งแรก
                โดยเริ่มปลายปี พ.ศ.2483 ถึง พ.ศ.2500 พิมพ์เสร็จในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เรียก
พระไตรปิฏกชุดนี้ว่า “ฉบับหลวง” ได้จัดพิมพ์ต่อมาจัดถึงครั้งหลัง ได้พิมพ์เนื่องในงานฉลอง
กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
                สมัยที่ 6      ต่อมาทางคณะสงฆ์ได้ทำการตรวจชำระพระไตรปิฏกภาษาบาลีและภาษาไทย โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2538 จึงแล้วเสร็จ
                ได้จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ.2530
                1.     พระไตรปิฏก “ฉบับภาษาบาลี” ที่ใช้เป็นต้นฉบับตรวจสอบในการสังคายนาครั้งนี้ ได้ใช้พระไตรปิฏกภาษาบาลี “ฉบับสยามรัฐ” ที่ได้ตรวจชำระและจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 พิมพ์ที่มหามกุฎราชวิทยาลัย
                        คณะกรรมการปาลีวิโสธกะ ได้นำพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐนั้น มาสอบเทียบกับ
พระไตรปิฏกฉบับดังต่อไปนี้
                        ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
                                    ฉบับฉัฏฐสังคีติอักษรพม่า (พม่าจัดทำเมื่อครั้งที่ 6)
                        ฉบับมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย (อักษรเทวนาครี)
                        ฉบับมาคมบาลีปกรณ์อักษรโรมัน
                        พร้อมทั้งได้ตรวจสอบดูกับ อรรถกถาฎีกา สัททาวิเสส ฉบับภูมิพโลภิกขุ
                2.     สำหรับพระไตรปิฏก “ฉบับแปลเป็นภาษาไทย” นั้นในการชำระพระไตรปิฏกครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้นำเอาพระไตรปิฏกภาษาไทย “ฉบับหลวง” มาเป็นต้นฉบับ

 

พระไตรปิฏกมี 5 ชุด

                ตามที่ได้ลำดับประวัติการจัดทำ “พระไตรปิฏกในประเทศไทย” มาจนถึงปัจจุบันนี้พอจะสรุปได้ว่า ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายได้มีจิตศรัทธานำ “พระไตรปิฏกฉบับภาษาไทย” ไปถวายตามวัดวาอารามต่าง ๆ
                เพื่อหวังสร้างปัญญาบารมีให้เกิดขึ้นจากอานิสงส์แห่ง “ธรรมทาน” เป็นการสืบต่ออายุ
พระศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป  ตามที่นิยมกันในสมัยนี้มีทั้งหมด 5 ชุด ดังนี้
                ชุดที่ 1  พระไตรปิฏก (ฉบับหลวง) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2500 กรมการศาสนาเป็นผู้จัดพิมพ์ จำนวน 45 เล่ม (คงไม่ได้พิมพ์อีกแล้ว)
                ชุดที่ 2  พระไตรปิฏก (ฉบับสังคายนา) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2530 กรมการศาสนาเป็นผู้จัดพิมพ์ จำนวน 45 เล่ม
                ชุดที่ 3  พระไตรปิฏก (พร้อมทั้งอรรถกถา) มหามงกุฎราชวิทยาลัย พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2525 จำนวน 91 เล่ม (สำนวนการแปลเช่นเดียวกับชุดของกรมการศาสนา เพียงแต่เพิ่มอรรถกถามาด้วย)
                ชุดที่ 4  พระไตรปิฏก (ฉบับสำหรับประชาชน) จัดทำโดย สุชีพ ปุญญานุภาพ (เป็นการย่อความจากพระไตรปิฏก ฉบับภาษาบาลี 45 เล่ม รวมเล่มเดียวจบ)
                ชุดที่ 5  พระไตรปิฏก (พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา) ส.ธรรมภักดี เป็นผู้จัดพิมพ์จำนวน 100 เล่ม
                ในปี พ.ศ.2531 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฏกลงในคอมพิวเตอร์ เรียกว่า พระไตรปิฏกฉบับคอมพิวเตอร์ นับเป็นพระไตรปิฏกฉบับแรกของประเทศไทยและของโลก

 

เรียบเรียงโดย อ.นวลจิต อุทัยเชฏฐ์